เทคนิคการเขียนเรื่องราวภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ขั้นตอนเบื้องต้น


เทคนิคการเขียนเรื่องราวภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ขั้นตอนเบื้องต้น


   การเขียนเรื่องราว เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจในการเรียนภาษาอังกฤษ เนื่องจากสามารถเขียนเรื่องราวออกมาจากจินตนาการได้ มีความน่าสนใจ และแปลกใหม่ เป็นวิธีที่ทำให้การเรียนคำศัพท์และประโยคไม่น่าเบื่อ 

   การเขียนเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษนั้น สำหรับเด็กหรือผู้เรียนขั้นเริ่มต้น อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะไม่รู้ว่าจะต้องขึ้นต้นอย่างไร เริ่มต้นจากตรงไหน ใช้ประโยคแบบไหนดี เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ตัวละครใดเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ไหนจะคำศัพท์และรูปแบบประโยคที่มีมากมายจนไม่รู้จะเลือกใช้แบบไหน 

   วันนี้เรามีเทคนิคการเขียนแต่งเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษมาให้ลองดู เป็นเทคนิคที่เหมาะสำหรับเด็ก หรือผู้เริ่มต้น ทำให้การเขียนแต่งเรื่องราวเป็นไปได้โดยง่าย และมีความสนุกสนานตจามจินตนาการของผู้เรียนไม่สิ้นสุด 



1. เลือกหัวข้อสำคัญของเรื่อง
   การเลือกหัวข้อสำคัญสำหรับเด็กหรือผู้เรียนเริ่มต้นนั้น ควรเริ่มจากให้ตนเองเป็นผู้ดำเนินเรื่อง เขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ตนเองคุ้นเคย หรือเรื่องราวในชีวิตประจำวันก่อน อาจมาจากประสบการณ์ เรื่องราวในอดีต หรือสิ่งที่อยากจะทำในอนาคตก็ได้

2. สร้างตัวละคร
   ในทุกๆเรื่องราวจะดำเนินไปได้นั้น จำเป็นต้องมีตัวละคร เรื่องราวคงขาดความน่าสนใจ หากทั้งเรื่องมีเราเป็นตัวละครตัวเดียว  โดยยึดจากหัวข้อสำคัญของเรื่องเป็นหลัก หากเราเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ตัวละครอาจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อน เป็นต้น

3. สร้างโครงเรื่อง
   เขียนสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประโยคสั้นๆ และง่ายๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักไวยากรณ์ใดๆ เพียงแค่ใช้คำให้ถูกความหมายและสามารถเข้าใจได้ง่าย จากนั้นนำประโยคทั้งหมดมาเรียงกันตามลำดับเวลา เทคนิคนี้จะทำให้เรื่องราวของเราไม่หลุดประเด็น และสามารถเขียนเรื่องราวต่อได้จนจบ

4. สร้างบทสรุปที่ดี
   หากเราเขียนเล่าเรื่องราวใดๆ สักอย่างหนึ่งแล้ว การสรุปที่ดีจะทำให้เรื่องราวสมบูรณ์แบบ เทคนิคในขั้นตอนนี้ให้เขียนสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงเรื่อง ว่าเป็นอย่างไร ดี หรือ แย่ และที่สำคัญ สามารถใส่อารมณ์ความรู้สึก หรือความคิดเห็นของผู้เขียนลงไปได้อีกด้วย

5. ร่างเนื้อเรื่อง
   เทคนิคนี้คือการนำทุกเทคนิคมาต่อเนื่องรวมกัน โดยพยายามเชื่อมประโยคที่ได้จากโครงเรื่องมาเชื่อมกันให้เป็นเรื่องราว ตามลำดับเวลา อาจแก้ไขคำหรือไวยากรณ์ในขั้นตอนนี้ หรือไม่แก้ก็ได้ เทคนิคนี้จะทำให้เห็นถึงภาพรวมของเรื่องราวทั้งหมดที่เราจะเขียน ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร บทสรุปเข้ากับเรื่องราวหรือไม่ 

5. แก้ไขเพิ่มเติม
   เทคนิคสุดท้าย ตรวจเช็คเรื่องราวทั้งหมดที่เราเขียน ว่ามีตรงไหนต้องเพิ่มเติม หรือแก้ไขหรือไม่อย่างไร ขั้นตอนนี้จะทำให้การเขียนของเราออกมาสมบูรณ์มากขึ้น หากเป็นผู้เรียนมือใหม่ อาจให้ครูหรือเพื่อนร่วมชั้นช่วยกันแก้ไขได้


   เทคนิคทั้งหมดนี้เป็นเพียงเทคนิคเริ่มต้น และเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคนิคการเขียนที่มีมากมาย สำหรับเด็กหรือผู้เรียนขั้นเริ่มต้น สามารถนำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้กับการเขียนเรื่องราวภาษาอังกฤษของตนเอง หากหมั่นฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จะเกิดความเคยชิน และความรวดเร็วมากขึ้น จากนั้นสามารถต่อยอด เรียนรู้เทคนิคการเขียนเชิงลึกมากขึ้นได้ในอนาคตต่อไป แล้วการเขียนเรื่องราวเป็นภาษาอังกฤษของคุณจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

#ยืนหนึ่งเรื่องกิจกรรมอังกฤษแบบอินเตอร์
#Classy English

 

Visitors: 1,185,908