เกมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก วิธีทำให้การเรียนรู้สนุก

เกมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก วิธีทำให้การเรียนรู้สนุก 


   ในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษแบบธรรมดาที่เราเรียนในห้องเรียน หรือตามโรงเรียนกวดวิชานั้น บางครั้ง อาจเกิดความน่าเบื่อจากรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ ทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่อยากเรียน เพราะต้องทำการจดจ่ออยู่กับเนื้อหา หรือการทำแบบฝึกหัด โดยเฉพาะผู้เรียนในวัยเด็ก จะถูกดึงความสนใจได้ง่ายจากสิ่งรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง หรือสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือจากบทเรียน 

   หนึ่งทางออกที่ดีในการจัดการกับปัญหานี้คือ เมื่อเราเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนในวัยเด็ก ว่าถูกดึงความสนใจได้ง่าย เราจึงควรดึงความสนใจของเด็กกลับมาให้อยู่ในการเรียนรู้ การแทรกเกมเข้าไป เป็นตัวเลือกที่ดีและใช้ได้ผล เพราะเด็กกับเกม เป็นของคู่กัน ไม่เพียงแต่วัยเด็กเท่านั้น แม้แต่วัยผู้ใหญ่เอง เมื่อมีเกมเข้ามาท้าทายความสามารถ หรือมีคู่แข่งให้แข่งขันหาผู้ชนะละก็ ก็เกิดความสนใจได้ไม่ต่างจากเด็กสักเท่าไร 

   การสอดแทรกเกมลงไปในการเรียนภาษาอังกฤษนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็นเกมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความสนุก ความบันเทิง ทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพ วันนี้เราจะดูกันว่า มีเกมการเรียนรู้ใด หรือวิธีการใดบ้างที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษสนุกมากขึ้น


  
1. เกมใบ้คำ 
   เรียกได้ว่าเป็นเกมสุดคลาสสิคที่กติกานั้นง่ายแสนง่าย และไม่ซับซ้อน แต่หากเล่นเมื่อไร ก็สนุกเมื่อนั้น เริ่มต้นจากเลือกหมวดหมู่ หัวข้อ หรือประเภทของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ จากนั้นเลือกคำศัพท์ที่อยู่ในหมวดหมู่นั้นมากลุ่มหนึ่ง โดยเลือกตามระดับของผู้เรียน เลือกผู้เล่นมาหนึ่งคน ผู้เล่นคนนี้จะไม่รู้ว่าคำศัพท์แต่ละคำคือคำว่าอะไร ผู้เล่นที่เหลือจะรู้คำศัพท์นั้น และช่วยกับบอกใบ้ โดยห้ามพูดคำนั้นออกมา ความน่าสนใจอยู่ที่ ผู้ใบ้ จะใบ้อย่างไรก็ได้ ทั้งการพูดหรือการแสดงท่าทาง เมื่อผู้เล่นตอบถูกก็จะได้คะแนน อาจจับเวลา แบ่งทีม หรือเล่นคนละคำ แล้วแต่จำนวนของผู้เล่น

2. เกม Hangman 
   หากคุณคิดว่าเกมใบ้คำในข้อแรกเล่นคลาสสิคสุดแล้ว เกม Hangman นี้ก็ไม่แพ้กัน เชื่อว่าหลายๆ คน คงผ่านการเล่นเกมนี้ในคลาสเรียนภาษาอังกฤษมากันบ้างแล้วแน่นอน กติการง่ายๆ ทายคำศัพท์จากจำนวนคำในช่องว่างให้ถูกต้อง แต่จะมีรูปคนโดนแขวนไว้ถูกวาดอยู่ข้างๆ ด้วย แต่จะมีเพียงส่วนหัว โดยเริ่มจากทายทีละตัวอักษร หากมีอยู่ในคำ ก็จะสามารถทายต่อได้ว่าคำนี้คือคำว่าอะไร แต่หากตัวอักษรไม่อยู่ในคำ  คนที่ถูกแขวนก็จะค่อยๆ ถูกวาดเติมชิ้นส่วน หากทายอักษรผิดเรื่อย ๆ จะถูกเติม ตัว แขน ขา หากครบเมื่อไร จะเป็นฝ่ายแพ้ในที่สุด เกมนี้สามารถปรับระดับความยากได้กับผู้เรียนในทุกระดับ อาจจะดูจำเจ แต่ถ้าเล่นเมื่อไร ก็สนุกทุกครั้ง

3. Pictionary
   ชื่อเกมนี้เล่นคำมาจากคำว่า Picture (รูปภาพ) + Dictionary (พจนานุกรม)  เกมนี้อาจต้องใช้ทักษะศิลปะเข้ามาช่วยสักเล็กน้อย เพราะผู้เล่นต้องวาดภาพคำศัพท์ เพื่อบอกใบ้ให้กับเพื่อนๆ ความน่าสนใจของเกมนี้คือ ไม่ใช่ผู้เล่นทุกคนจะเก่งเรื่องการวาดภาพ หากทักษะวาดภาพของคุณไม่ค่อยดีสักเท่าไร จะยิ่งทำให้ผู้เล่นตอบยาก และเกมจะสนุกมากขึ้น โดยเกมนี้อาจเล่นเป็นทีม หรือรายบุคคลก็ได้ หากผู้เล่นคนไหนตอบได้ ก็จะได้ออกมาเป็นคนวาดเพื่อใบ้ต่อๆ ไป การสร้างสรรค์รูปภาพของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องลุ้นทุกครั้งว่าแต่ละคำศัพท์นั้น คือคำว่าอะไร

4. Token Economy
   วิธีนี้อาจเรียกว่าเกมไม่ได้สักเท่าไร แต่เป็นวิธีการที่ช่วยเพิ่มความสนุกในการเรียนรู้ได้ วิธีการนี้มีชื่อเป็นภาษาไทยว่าเบี้ยอรรถกร ฟังจากชื่อแล้วคงงงไปตามๆ กัน ว่าคืออะไรกันแน่ แต่หากพูดถึงระบบสะสมแต้ม จากร้านสะดวกซื้อที่คุ้นเคย ทุกคนคงพอเข้าใจเป็นแน่ การใช้วิธีการนี้เหมือนกับการสะสมแต้ม หรือคะแนน อาจได้จากการตอบคำถาม หรือการนำเสนอความคิดระหว่างการเรียนรู้ ซึ่งแต้มที่ได้นี้จะถูกสะสมไปเรื่อย ๆ หากผู้เรียนคนใด มีแต้มมากที่สุด ในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะเป็นผู้ชนะไป อาจมีการตั้งกติกาหรือเงื่อนไข ว่าเมื่อไรผู้เรียนจะได้แต้ม หรือลดแต้ม แล้วแต่ระดับของผู้เรียน วิธีการนี้นอกจากจะสนุกแล้ว ยังทำให้ผู้เรียนจดจ่อกับการเรียนรู้ได้มากขึ้น เพราะกลัวว่าจะไม่ได้แต้ม หรือถูกลดคะแนนนั่นเอง

5. เกมเชื่อมคำ
   เกมนี้เหมาะสำหรับการเรียนคำศัพท์ประเภทคำนาม โดยผู้เล่นแต่ละคนต้องพูดคำศัพท์ที่เป็นคำนามคนละหนึ่งคำ ในแต่ละรอบ โดยคำของแต่ละคนนั้น จะต้องเชื่อมต่อกับคำของคนก่อนหน้า วิธีการดูว่าจะเชื่อมหรือไม่นั้น สามารถใช้การลงความเห็นของผู้เล่นได้เลย ความน่าสนใจของเกมนี้คือ ผู้เล่นแต่ละคนห้ามพูดคำนามซ้ำกันเลย แม้แต่พยางค์เดียว ยกตัวอย่างเช่น หากมีผู้เล่นพูดว่า ‘Bedroom’ แล้ว คนที่เหลือก็จะไม่สามารถ พูดว่า ‘Bathroom’ หรือคำนามอื่นๆ ที่มีคำว่า ‘room’ ได้อีกเลย ทำให้ต้องคิดคำใหม่ๆ ให้เชื่อมกับคำก่อนหน้าอยู่ตลอดเวลา

    วิธีที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สามารถนำไปสอดแทรกในทุกๆ การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ไม่เพียงแต่กับเด็ก แต่สามารถใช้ได้กับทุกช่วงวัย จะทำให้ทุกการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของทุกคน มีความสนุก น่าสนใจ และบันเทิงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรใช้วิธีการเดิม ๆ ซ้ำ ในแต่ละครั้ง เพราะเมื่อทำกิจกรรมเดิมไป อาจเกิดความน่าเบื่อขึ้น จนหมดความสนุกไปในที่สุด วิธีการเหล่านี้ควรใช้อย่างเว้นระยะห่าง หรือในบางโอกาสจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีวิธีการอีกมากมายที่ทำให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษน่าสนุกมากขึ้น ทำให้การเรียนรู้และความสนุกสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้

#ยืนหนึ่งเรื่องกิจกรรมอังกฤษแบบอินเตอร์
#ClassyEnglish 

Visitors: 1,210,486